อิทธิพลของนักแปลต่อวรรณกรรม | ชมรมคนรักการ์ตูน | สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก

ม่อเอี๋ยน – นักเขียนจีน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี 2012 กล่าวถึงอิทธิพลของนักแปลต่อวรรณกรรมไว้น่าฟังมาก … 

เพราะเราแปลหนังสือและรักงานแปล จึงขอแปลส่วนหนึ่งจากปาฐกถาของม่อเอี๋ยนเกี่ยวกับการแปลมาฝากเพื่อนนักแปลและนักอ่าน … ในวันเบิกปีใหม่นี้เลยค่ะ ^_^

* * * * * *

… ม่อเอี๋ยนปราศรัยในงานก่อตั้ง “สถาบันศึกษาค้นคว้าวรรณกรรมโลก” แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2001 และพูดถึงนักแปลไว้ดังนี้ .. : ..

นักแปลมีอิทธิพลมหาศาลต่อวรรณกรรม ไร้ซึ่งนักแปล แนวคิดเกี่ยวกับ “วรรณกรรมโลก” ก็เป็นคำที่ว่างเปล่า มีแต่ผ่านการทำงานในลักษณะสร้างสรรค์ของนักแปล ความเป็นสากลของวรรณกรรมจึงเป็นจริงได้ หากไร้ซึ่งการทำงานของนักแปล หนังสือของตอลสตอยก็จะเป็นเพียงหนังสือของชาวรัสเซีย หากไร้ซึ่งการทำงานของนักแปล หนังสือของบัลสักก็จะเป็นเพียงหนังสือของชาวฝรั่งเศส ทำนองเดียวกัน หากไร้ซึ่งการทำงานของนักแปล โฟล์กเนอร์ก็เป็นโฟล์กเนอร์ของประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ มาร์เกซก็เป็นมาร์เกซของประเทศที่ใช้ภาษาสเปนได้เท่านั้น และอีกเช่นกัน หากไร้ซึ่งการทำงานของนักแปล งานวรรณกรรมจีนก็ไม่สามารถสู่สายตาของนักอ่านชาวตะวันตก

ถ้าไม่มีนักแปล การแลกเปลี่ยนทางวรรณกรรมในขอบข่ายทั่วโลกก็ไม่อาจดำรงอยู่ หากไม่มีการแลกเปลี่ยนทางวรรณกรรมในขอบข่ายทั่วโลก วรรณกรรมโลกจะไม่มีทางรุ่มรวยหลากสีสันเช่นที่เป็นอยู่ในวันนี้อย่างแน่นอน หลู่ซิ่นเคยกล่าวไว้ว่า “โลกมีวรรณกรรม หญิงสาวมีสะโพกอวบเต็ม” ไม่มีสะโพกที่อวบเต็ม หญิงสาวย่อมไม่ใช่หญิงสาวที่สมบูรณ์ ไร้วรรณกรรม โลกก็ไม่อาจเป็นโลกที่สมบูรณ์ จากนี้จะเห็นได้ว่า “สถาบันศึกษาค้นคว้าวรรณกรรมโลก” ของเรานี้เป็นองค์กรที่สำคัญเพียงไร !

ผมเองในฐานะนักเขียนที่เกิดในทศวรรษที่ 80 แห่งศตวรรษก่อน ได้รับรู้ความสำคัญของการศึกษาจากวรรณกรรมต่างประเทศด้วยตัวเอง หากไม่มีนักแปลเก่งๆ แปลวรรณกรรมต่างประเทศจำนวนมากให้เป็นภาษาจีน กลุ่มนักเขียนที่ไม่รู้ภาษาต่างประเทศอย่างพวกเราก็ไม่อาจเข้าใจถึงความสำเร็จอันงดงามที่วรรณกรรมต่างประเทศได้สร้างขึ้น หากไม่มีการทำงานในลักษณะสร้างสรรค์ของนักแปลของเรา วรรณกรรมจีนในปัจจุบันย่อมไม่เป็นเช่นที่เป็นในขณะนี้ แน่นอนที่มีนักเขียนบางคนปฏิเสธที่จะยอมรับอิทธิพลของวรรณกรรมต่างประเทศต่อตนเอง ทำราวกับว่าอย่างนี้แล้วจะแสดงความไม่ธรรมดาของตน ที่จริง นี่เป็นความเสแสร้งที่ไม่จำเป็น การยอมรับว่าได้ศึกษาหยิบยืมจากวรรณกรรมต่างประเทศไม่ได้กระทบต่อความยิ่งใหญ่ของคุณ นักแปลก็ไม่ได้มาแบ่งเงินค่าเขียนของคุณ หลู่ซิ่นทำมาแล้ว กวา ม่อ ยั่วทำมาแล้ว เหมาตุ้น ปาจินก็ทำมาแล้ว (เหล่านี้เป็นนักเขียนจีนร่วมสมัยซึ่งชาวจีนยอมรับในความยิ่งใหญ่) การทำเช่นนี้ไม่กระทบความยิ่งใหญ่ของพวกเขาแม้แต่น้อย ทว่า อาจจะด้วยการทำเช่นนี้เองที่ทำให้พวกเขายิ่งใหญ่ แน่ล่ะ ต้องมีคนย้อนว่า เฉา เสว่ ฉิน ไม่รู้ภาษาต่างประเทศ ก็เขียนงานยิ่งใหญ่เช่น “ความฝันในหอแดง” ได้ไม่ใช่เรอะ? คำตอบของผมคือ เฉา เสว่ ฉินมีพรสวรรค์ คนมีพรสวรรค์ก็ย่อมไม่ต้องหยิบยืมใคร แต่ถ้าจะเถียงให้ได้ ก็ยังพูดได้อยู่ดีว่า ความคิดศาสนาพุทธใน “ความฝันในหอแดง” นั้นก็มาจากวรรณกรรมต่างประเทศ …

ไม่นานมานี้ ผมไปร่วมประชุมเกี่ยวกับการวิจารณ์นิยายเรื่องยาวเรื่องหนึ่ง ในงานนั้น อาจารย์เฉินซือเหอ จากมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น ได้ตั้งคำถามว่า งานวรรณกรรมต่างประเทศที่ถูกแปลเป็นภาษาจีนแล้วนั้น ถือว่าเป็นวรรณกรรมต่างประเทศ หรือว่าวรรณกรรมจีน? สำนวนภาษาในนิยายที่ถูกแปลมานี้ ถือเป็นภาษาของผู้เขียนหรือผู้แปล? นักเขียนอย่างเราๆ ที่ไม่รู้ภาษาต่างประเทศ พออ่านงานวรรณกรรมจากลาตินอเมริกาที่แปลเป็นภาษาจีนโดยคุณเจ้าเต๋อหมิง เจ้าเจิ้นเจียง หลินอี้อัน … (ชื่อนักแปลจีน) แล้ว สำนวนที่ใช้ในนิยายของเราเองก็เปลี่ยนไปด้วย สำนวนเราได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมลาตินอเมริกาหรือจากกลุ่มนักแปลเช่นคุณเจ้าเต๋อหมิงเล่า?

อาจารย์เฉินซือเหอเห็นว่า ดูจากแง่มุมทางวรรณกรรมแล้ว วรรณกรรมดีๆ ต่างประเทศที่ถูกแปลเป็นภาษาจีนแล้ว ก็ย่อมต้องถือเป็นส่วนหนึ่งของวรรณกรรมจีนด้วย

ผมเห็นด้วยกับความเห็นนี้ ผมเห็นว่า นักแปลที่ดีคนหนึ่ง นอกจากเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาต่างประเทศแล้ว ยังจะเป็นผู้รู้ในภาษาแม่ด้วย เมื่อผสานทั้งสองเข้าด้วยกัน พวกเขาก็คือครูทางภาษา พวกเขาไม่เพียงใช้การทำงานอันล้ำเลิศทำให้เราได้เข้าใจเรื่องราวที่บอกเล่าโดยนักเขียนต่างประเทศ รู้เทคนิควิธีที่พวกเขาใช้ รู้ความคิดที่แสดงออกผ่านเรื่องราว นักแปลยังได้ช่วยพัฒนาภาษาแม่อันอุดมของเราด้วย การทำงานของพวกเขามีคุณูปการหาที่สุดไม่ได้ หากมองจากความหมายนี้แล้ว “สถาบันศึกษาค้นคว้าวรรณกรรมโลกแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง” นี้ ก็ไม่เพียงเป็นแค่สถาบันศึกษาค้นคว้า เป็นองค์กรที่แปลวรรณกรรมต่างประเทศเท่านั้น ทว่ายังเป็นอู่แห่งการบ่มเพาะเลี้ยงดูวรรณกรรมจีนด้วย สถาบันศึกษาค้นคว้าวรรณกรรมโลกนี้ไม่เพียงแต่ศึกษาค้นคว้าและแปลวรรณกรรมต่่างประเทศเท่านั้น หากยังเป็นห้องทดลองทางวรรณกรรมที่จะนำมาซึ่งปัจจัยอันสดใหม่แก่ภาษาจีนด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *