“พาไรโดเลียรำลึก” เหนือจินตนาการ | ห้องสมุดการ์ตูน / แอนิเมชั่น | สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก

โดย : จรูญพร ปรปักษ์ประลัย

พา ไรโดเลีย คือการมองสิ่งที่ไม่มีรูปร่าง/รูปทรงแน่นอนให้เป็นบางสิ่งที่มีลักษณะชัดเจน เช่น มองก้อนเมฆเป็นรูปสัตว์หรือสิ่งของต่างๆ

พาไรโดเลียรำลึก
เขียน : ปราบดา หยุ่น
สำนักพิมพ์ไต้ฝุ่น ราคา 135 บาท, 98 หน้า

………………………………………………………….

“…มันเป็นปฏิกิริยาทางจิตที่สร้างภาพคุ้นตาขึ้นจากภาพที่เป็นนามธรรม…” (หน้า 22)

นี่คือคำจำกัดความของ ‘พาไรโดเลีย’ ที่วิกเตอร์ หนุ่มลูกครึ่งญี่ปุ่นอเมริกัน ให้กับเด็กสาวชาวไทยซึ่งติดตามพ่อไปใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่น ก่อนที่จะได้พบกับวิกเตอร์ แล้วก่อเกิดเป็นความสัมพันธ์ที่เรียกกันว่าความรัก

หากคำจำกัดความนี้ยังยากเกินไป ก็อธิบายให้ง่ายขึ้นได้ว่า ‘พาไรโดเลีย’ ก็คือการมองสิ่งที่ไม่มีรูปร่าง/รูปทรงแน่นอนให้เป็นบางสิ่งที่มีลักษณะ ชัดเจน เช่น มองก้อนเมฆเป็นรูปสัตว์หรือสิ่งของต่างๆ, มองของเล่นที่ลูกวางไว้เกลื่อนกลาดเป็นตัวอักษรข้อความ, มองรอยคราบบนฝาผนังเป็นภาพพระพุทธเจ้า เป็นต้น

หลังจากที่เด็กสาวได้รู้เกี่ยวกับพาไรโดเลีย เธอก็กลายเป็นเหมือนกับวิกเตอร์ ที่มีความสุขกับการมองหาภาพในสิ่งต่างๆ อยู่ทุกเวลานาที ทันทีที่เห็นเป็นภาพ เธอจะชี้ชวนให้วิกเตอร์ดู และวาดภาพนั้นบันทึกไว้ในสมุดสเก็ตช์ของเขา ในไม่ช้า ทั้งพาไรโดเลีย และวิกเตอร์ ก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเธอ

“…ฉันจะสอดส่ายสายตามองหาอะไรสักอย่างที่ไม่ใช่อะไรเลยสักอย่างอยู่เสมอ…” (หน้า 23) 

วิกเตอร์และพาไรโดเลีย ได้เข้ามาเติมเต็มชีวิตที่ว่างเปล่าของเด็กสาวคนหนึ่งให้กลับมีความหมายขึ้น มา ดูเหมือนว่านี่เป็นสิ่งที่เธอรอคอยมาทั้งชีวิต เฝ้ามองโดยหวังจะเห็นการปรากฏของมัน เมื่อได้เห็น เธอจึงกระโจนเข้าใส่โดยไม่รั้งรอ

 ‘พาไรโดเลีย’ ที่ ปราบดา หยุ่น นำ มาใช้ในเรื่องสั้นขนาดยาว “พาราโดเลียรำลึก” เรื่องนี้ ได้สะท้อนด้านลึกของตัวละครออกมาได้อย่างแจ่มชัด ที่ผ่านมา ชีวิตของเด็กสาวเป็นเหมือนสิ่งที่ล่องลอยไปมา ไร้ความหมาย ไม่มีภาพที่แจ่มชัด และไม่อาจเข้าใจเหตุผลของการดำรงอยู่ พาราโดเลียและวิกเตอร์ได้เข้ามาเปลี่ยน ให้เธอเห็นภาพตัวเองชัดเจนขึ้น เป็นภาพของเด็กสาวที่มีเสน่ห์ มีความรัก และมีความสุข

แต่ภาพที่มองเห็นกับความเป็นจริง ใช่ว่าจะเป็นสิ่งเดียวกัน เหมือนก้อนเมฆที่ก่อตัวคล้ายรูปของสิ่งต่างๆ ในไม่ช้ามันก็ผันแปรเปลี่ยนไปเป็นรูปอื่นๆ

ไม่แต่การมองตัวเองเท่านั้น การเข้ามาของวิกเตอร์ก็มีลักษณะเดียวกัน แรกเริ่มเธอคิดว่าเห็นภาพเขาอย่างแจ่มชัด แต่หลังจากนั้น ภาพชายหนุ่มที่มองเห็นก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป จนในท้ายที่สุด เขาก็ดูเหมือนไม่ใช่คนที่เธอเคยรู้จัก หรือจะพูดให้ถูกไปกว่านั้น เธออาจไม่เคยรู้จักเขาเลยจริงๆ เลยก็ได้

หากมองในแง่นี้ ‘พาไรโดเลีย’ ก็ไม่ได้เป็นเพียงปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเมื่อเงยหน้ามองท้องฟ้า มองรอยเลอะเปรอะเปื้อนของสิ่งต่างๆ หรือมองไปที่ข้าวของที่วางระเกะระกะเท่านั้น แต่ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเรา ล้วนมี ‘พาไรโดเลีย’ เข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ ทั้งนี้ก็เพราะ  “…คนเรามักต้องการเข้าใจมากกว่าไม่เข้าใจ ต้องการสร้างเรื่องราวขึ้นจากสิ่งที่ไม่มีเรื่องราว หาความหมายในสิ่งที่ไม่มีความหมาย…” (หน้า 22) สิ่งต่างๆ ที่เราพบเจอในชีวิต จะถูกผนวกด้วยจินตนาการเข้าไป เพื่อให้สิ่งเหล่านั้นชัดเจนขึ้น มีความหมายบางอย่าง และสามารถเข้าใจได้อย่างชัดเจน

น่าสนใจว่า ขณะที่บอกเล่าเรื่องราวของตัวละคร ปราบดา หยุ่น ก็ เล่นล้อกับผู้อ่านไปพร้อมๆ กันด้วย เพราะหากมองกันกว้างๆ การอ่านก็เป็น ‘พาไรโดเลีย’ แบบหนึ่ง คนส่วนใหญ่ไม่ว่าจะอ่านอะไรก็ตาม จะพยายามหาทางเข้าใจเรื่องราวที่นักเขียนบอกเล่า พร้อมหาความหมายที่ซ่อนอยู่ในนั้นอยู่เสมอ หากไม่เข้าใจและไม่เห็นความหมายใดๆ ก็จะประเมินว่า นี่เป็นงานเขียนที่ไม่ดี อ่านไม่รู้เรื่อง และไม่ให้ความหมายที่ลึกซึ้ง

ปราบดา หยุ่น วาง โครงสร้างเรื่อง “พาราโดเลียรำลึก” ไว้เช่นเดียวกับตัวละครวิกเตอร์ นั่นก็คือเป็นสิ่งที่ดูเหมือนมีรูปร่างแน่นอนตายตัว วิกเตอร์เป็นหนุ่มลูกครึ่งหล่อเหลา สุภาพ นุ่มนวล เปี่ยมจินตนาการ พร้อมด้วยความสามารถทางศิลปะ เขาคือผู้ชายที่เกิดมาเพื่อเป็นพระเอกในนวนิยายอย่างแท้จริง ตัวละครแบบนี้แหละที่ผู้อ่านจะหลงรักได้ง่ายๆ ขณะเดียวกัน เรื่องราวก็มีโครงสร้างแบบเรื่องรักโรแมนติก หนุ่มเหงา สาวเปลี่ยว มาเจอกัน ณ เมืองอันห่างไกล ที่ซึ่งมีผู้คนอาศัยอยู่มากมาย ทว่าเขาและเธอกลับรู้สึกเหมือนไม่มีใคร จนกระทั่งได้มาเจอกัน นี่คือโครงสร้างเรื่องในแบบที่เราคุ้นเคย เข้าใจได้ง่าย และรู้สึกว่ามีความหมาย

แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินไป ความคุ้นเคยนี้ก็เริ่มเคลื่อนคลาย ก่อเกิดเป็นความคลุมเครือ ไม่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งพระเอกวิกเตอร์และโครงสร้างเรื่องความรัก สุดท้ายเรื่องราวก็พลิกผันกลับกลายเป็นตรงกันข้าม ตัวละครและโครงสร้างเรื่องไม่เป็นแบบที่เราคุ้นเคยอีกต่อไป

ณ จุดนี้ ตัวละครเด็กสาวกับผู้อ่านถูกวางไว้ตรงตำแหน่งเดียวกัน เด็กสาวคิดว่าวิกเตอร์และพาไรโดเลียคือสิ่งที่สร้างความหมายให้กับชีวิตเธอ ในขณะเดียวกัน เรื่องราวความรักอันน่าประทับใจของเขาและเธอ ก็เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามีความหมายสำหรับผู้อ่านเช่นกัน

อาจบอกได้ว่า นี่คือเรื่องราวความรักของเด็กสาวผู้อ่อนประสบการณ์และเต็มไปด้วยความฟุ้ง ฝัน เรื่องเริ่มต้นเหมือนในนิยายรักทั้งหลาย มันทำให้ทั้งตัวละครเด็กสาวและผู้อ่านหลงคิดไปว่า เรื่องราวต้องเป็นไปตามแบบฉบับที่เคยประทับใจ แต่ที่แท้มันกลับไม่ใช่เลย

ในความเป็นจริง ไม่ว่าใครจะมองก้อนเมฆเป็นรูปอะไร เมฆก็ยังคงเป็นแค่เมฆ เช่นเดียวกับคนแต่ละคน ไม่ว่าใครจะมองใครอย่างไร เป็นพระเอก นางเอก ผู้ร้าย ตัวตลก ตัวประกอบ หรืออื่นๆ ก็ไม่มีใครเป็นเช่นนั้นตามที่คนอื่นมองเห็น เขายังคงเป็นเขาในแบบของเขา

ไม่มีอะไรที่มีรูปแบบที่แน่นอนตายตัว ใครจะเข้าใจสิ่งเหล่านั้นหรือไม่ หรือมันจะมีความหมายใดๆ หรือเปล่า นั่นไม่ใช่ปัญหาของสิ่งที่ถูกมอง แต่เป็นปัญหาของผู้ที่มองต่างหาก หากมองด้วยดวงตาที่อ่อนต่อโลก เราจะมองไม่เห็นความจริง แต่จะเห็นแค่สิ่งที่เราสร้างขึ้นมาจากความจริงนั้น

ผมชอบตอนจบของเรื่องที่เหตุการณ์ร้ายๆ ที่เด็กสาวได้รับ ไม่ทำให้เธอทุกข์ร้อนฟูมฟาย ในทางกลับกัน เธอกลับยอมรับมันอย่างเข้มแข็ง จากเด็กที่ไม่ประสีประสา บัดนี้เธอเข้าใจแล้วว่า สิ่งต่างๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบที่เธอคิดว่ามันควรจะเป็น

“…ในวัยสิบเจ็ดย่างสิบแปดฉันได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ หลายเรื่อง เรื่องหนึ่งที่ไม่คาดว่าจะได้รู้คือพ่อของฉันก็ชอบดูหนังโป๊กับเขาด้วย…” (หน้า 91)

พ่อที่ไม่ใช่พ่อตามแบบฉบับ ก็เป็นเช่นเดียวกับสิ่งอื่นๆ ในชีวิตเด็กสาว ที่ล้วนพลิกเปลี่ยนไปจากเมื่อแรกเริ่ม มันไม่ชวนฝันเหมือนนิยายรักทั้งหลาย แต่มันก็ไม่ได้เลวร้ายจนเกินกว่าจะรับ

จงอยู่กับความจริงอย่างที่มันเป็นจริงๆ เพราะบางทีจินตนาการต่างหาก ที่ทำร้ายเรามานักต่อนัก ด้วยความหลงผิดคิดว่า อะไรเป็นอะไร ทั้งที่มันอาจไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด

ไม่เฉพาะแต่ตัวละครในเรื่องนี้และโครงสร้างของเรื่องนี้เท่านั้น แต่หมายรวมถึงทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกตัวละคร และทุกเรื่องราวในสังคม

(หมายเหตุ : ในที่สุดผมก็อดที่จะทำความเข้าใจและหาความหมายจากหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ นี่อาจเป็นการทำงานด้วยปฏิกิริยา ‘พาไรโดเลีย’ ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง บางทีสิ่งที่ ปราบดา หยุ่น เขียนอาจเป็นแค่เรื่องเรื่องหนึ่ง โดยไม่ได้ตั้งใจให้ความหมายแบบที่ผมเขียนมานี้เลยก็ได้)

ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com  ( http://bit.ly/Is9BqL )


ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *