ชีวิตในช่ิองสี่เหลี่ยม ของ “วิศุทธิ์ พรนิมิตร” | ห้องสมุดการ์ตูน / แอนิเมชั่น | สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก

การ์ตูนที่ดีต้องมาจากชีวิต”

อาจกล่าวได้ว่า พี่ตั้ม-วิศุทธิ์ พรนิมิตร และ “hesheit” เป็นต้นแบบของการ์ตูนพ็อคเก็ตบุ๊ค ที่เน้นการนำเสนอแนวคิดไปพร้อมกับภาพ ซึ่งกำลังเป็นทางเลือกใหม่มาแรงในแวดวงการ์ตูนไทย เช่นเดียวกัน การสร้างงานที่เขาเชื่อว่า “ไม่ต้องคิด ทำเท่าที่ทำได้จะได้ทำได้เลย” สามารถโดนใจนักอ่านชาวญี่ปุ่น กระทั่งได้รับการยกย่องให้เป็นนักวาดการ์ตูนรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองในประเทศต้นตำรับของการ์ตูนคอมิคทั่วโลก
บทสนทนาขนาดสั้นต่อจากนี้สะท้อนแนวคิดมองต่างมุมของ วิศุทธิ์ พรนิมิตร ภายใต้คำพูดง่ายๆ เช่นเดียวกับลายเส้นเรียบง่ายไม่กี่ช่องของเขาที่มัก “ถมดำ” ด้วยปรัชญาชีวิตแบบที่เรานึกไม่ถึง

ทำไม “hesheit” จึงประสบความสำเร็จจนสร้างชื่อให้พี่ตั้มเริ่มเป็นที่รู้จักในแวดวงการ์ตูน
มีหลายองค์ประกอบ ตอนนั้นใครลง “มังกะ แคช” (Manga Katch) ก็ต้องดัง อีกส่วนคิดว่างานเรามาจากยุคนั้น คือเรารู้สึกอะไรก็เขียนลงไป เขียนประสบการณ์ชีวิต มีแฟน ไม่มีที่จอดรถ ขึ้นรถเมล์ กินก๋วยเตี๋ยว คนอ่านก็คงเข้าใจความรู้สึกเพราะเค้าก็อยู่ยุคเดียวกับเรา อันนี้เป็นจุดสำคัญเพราะบางทีการ์ตูนสนุกแต่ไม่ทำให้รู้สึกไปด้วย

คิดว่างานของตัวเองแตกต่างจากการ์ตูนคอมิคทั่วไปในยุคนั้นไหม
มันคงเขียนด้วยจุดประสงค์คนละแบบ การ์ตูนญี่ปุ่นมีตลาดมีระบบ เค้ารู้ว่าทำยังไงถึงจะขายได้ ทำตุ๊กตา ทำเกมออกมาได้ไหม ซึ่งเป็นตัวกำหนดว่าเรื่องต้องเป็นยังไง ตัวละครนิสัยยังไง แต่ของเราไม่คิดเรื่องแบบนั้น งานเรามาจากประโยคสั้นๆ ที่ค้นพบแล้วเอาประโยคนั้นมาขยายเป็นเรื่อง ใช้พื้นที่ 7-8 หน้าก็ได้ความ ทำตุ๊กตาก็ไม่ได้ ทำยาวกว่านี้ก็ไม่ได้ แล้วเราก็ขี้เกียจวาดด้วย วาดรูปก็ไม่สวย เขียนไปก็ไม่ได้เงินมากมาย จึงต้องทำงานอย่างอื่นไปด้วย ต้องรีบทำให้เสร็จ แป๊บหนึ่งประโยคใหม่ก็มาอีกแล้ว 
 

วัตถุดิบในการสร้างเรื่องแต่ละเรื่องมาจากไหน
กินข้าว ขึ้นรถไฟ พอได้เห็นคนหลายประเภทก็ได้เห็นหลายมุม มองมุมกว้างๆ ก็เกิดประโยคแล้ว สมมติไปดูงานศิลปะ ก็ไม่ได้ดูงาน ดูคนมากกว่าว่ามาทำอะไร ใครมาเจอกัน ส่วนใหญ่ไปดูหนังก็จะได้แรงบันดาลใจว่าถ้าทำตรงข้ามกับเค้าจะเป็นยังไง เราชอบสงสัย

การปั้นคาแรกเตอร์ขึ้นมาตัวหนึ่ง อย่าง มะม่วงเกิดจากอะไรบ้าง
เกิดจากว่าเราจะพูดอะไร แล้วมันจะมีรูปร่างของคนที่จะพูดถูกปั้นออกมา เช่น คิดเรื่องความรักผู้หญิงผู้ชายก็ต้องวาดผู้หญิงผู้ชาย “hesheit” ก็มาอย่างนั้น คนหนึ่งพูดตรงๆ แมนๆ อีกคนเป็นผู้หญิงก็จะคิดฉลาดหน่อย บางทีก็เปราะบางไป เลยสมดุลกัน พอสนทนากันก็กลายเป็นปรัชญา ส่วน “มะม่วง” อยากวาดตัวที่ไม่คิดอะไรเลย เดินไปยิ้มไป เป็นผู้หญิงแล้วกันจะได้นิ่มๆ ดี “มะม่วง” มักไม่ได้พูดอะไร ตอนนั้นเบื่อความคิดมากของตัวเอง เริ่มโตขึ้น เริ่มเข้าใจชีวิตว่าเป็นธรรมชาติ ความโง่ลงในชีวิตเราจริงๆ แล้วเป็นความโตขึ้น แต่สมัย “hesheit” จะมีความเป็นกบฏ ต่อต้านความคิดแบบนั้นแบบนี้ 

อยากให้การ์ตูนเปลี่ยนแปลงสังคมเลยไหม
อันนี้คือตอนเด็กๆ เราก็มีหลายยุค พอเขียนไปสักพักการ์ตูนเราจะเย็นลงเรื่อยๆ ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรแล้ว เปลี่ยนกันแค่ในเรื่องพอ หรือแอบคิดว่าถ้าคนอ่านอ่านแล้วได้คิดก็โอเค เราอยากเพิ่มมุมมองให้เค้า

สังเกตว่าลายเส้นยุคใหม่ที่วาดให้หนังสือญี่ปุ่นดูนุ่มขึ้นมาก 
เริ่มเป็นยุคทดลองแล้ว เรื่องที่อิสระที่สุดและสนุกที่สุดของเราคือ “hesheit” เขียนไปตามอารมณ์เลย พอเขียนไปเขียนมามันจบแล้ว เรารู้ว่ามันดีที่สุดแล้ว เลยลองทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่เรา ที่ใจเย็นลง เห็นคนเค้าวาดกันสวยๆ แล้วเราแจ๋วนักเหรอที่มานั่งเขี่ยๆ ทำอย่างเค้าบ้างได้ไหม ก็เลยลองรับงานตามสั่งว่าจะเป็นยังไง ให้ตัวเราเป็นร่างกาย อะไรผ่านมาก็ให้ผ่านไป

ผลการทดลองเป็นยังไงบ้าง
เหมือนเราทดลองใจมากกว่า พอใจกว้างก็ได้เห็นอะไรเยอะ ขี้เกียจจะไปรู้สึกแล้ว มันอีโก้เกินไป ศิลปะมีไว้เพื่อมองอะไรอีกมุมหนึ่ง ถ้ามองแต่อีโก้ตัวเอง จิตใจไม่เป็นอิสระ อาจจะรู้สึกแป๊บๆ แต่ไม่ต้องถือไว้นาน (ฟังดูไปทางธรรมะ?) เราว่างานเราเป็นมานานแต่มันเริ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ คิดว่าทางไหนมันก็มาถึงอันนี้หมด ไม่ว่าจะปลูกข้าว ขายอะไร เรื่องของจิตใจก็มีเท่านี้ แต่เราไม่ใช่คนไปวัดนะ

คิดว่าทำไมคนญี่ปุ่นถึงเปิดรับการ์ตูนของพี่ตั้ม ทั้งที่การ์ตูนของชาติตัวเองก็เยอะมาก 
การ์ตูนอยู่ในชีวิตคนญี่ปุ่น มีคนซื้อ มีคนทำ มีคนวาด มีหลายประเภทมาก เราเข้าไปง่ายกว่าตลาดเมืองไทยด้วยซ้ำ คิดว่าเนื้อเรื่องเราเดาไม่ออก และเรามีวิธีนำเสนอแปลกๆ ด้วยความที่ไม่มีชื่อเสียงเลยพยายามไปปรากฏตัวในอีเวนท์ทุกแบบ เลยถูกจัดอยู่ในพวก Sub Culture (วัฒนธรรมย่อย) ไม่ใช่การ์ตูน เค้าเล่นดนตรีแปลกๆ ให้เราไปร่วมด้วย เราก็ไปฉายหนังการ์ตูน ก็เพี้ยนดี แต่หลังๆ ก็บ่งชี้ได้ว่ากลุ่มแฟนที่มาดูเป็นกลุ่มไหน 

ในสายตาคนญี่ปุ่น การ์ตูนของพี่ตั้มมีความเป็นไทยไหม
ไม่เคยพูดถึงเลย เค้ามองที่เนื้อเรื่อง หลังๆ จะถูกมองเป็นงานศิลปะมากกว่า เราทำแอนิเมชั่นด้วย ฉายไปก็เอาเปียโนหรือกีตาร์ไปเล่นหน้าจอ หลังๆ ถึงได้งานเขียนการ์ตูนลงนิตยสาร การ์ตูนเล่ม ภาพประกอบนิตยสารแฟชั่น หรืออีกที่ให้เราไปปรึกษาปัญหาชีวิตซะงั้น เพราะเค้าคิดว่าการ์ตูนเรามีปรัชญาชีวิตที่ปลอบใจคนได้ เราก็ทำทุกอย่างที่มีโอกาส เหมือนเป็นกำแพงแล้วเซาะไปในรูเล็กๆ มีรูไหนก็เซาะไป ก็พอจะไหลๆ ไปได้

ขอถามย้อนไปว่าทำไมถึงเลือกไปเรียนที่ญี่ปุ่นคะ
แม่ไล่ให้ไปเรียนอะไรสักอย่างที่ไหนก็ได้ แต่ก่อนเราไม่อยากไป อยากรู้ว่าวาดการ์ตูนมันจะทำเป็นงานได้ไหม ก็ได้ลง “อะ เดย์” กับ “มังกะ แคช” อยู่ 5 ปี แม่ก็มาถามอีก เราเริ่มคิดได้ว่าไปทำตามความฝันตอนเด็กดีกว่า คือตอนเด็กๆ อ่านการ์ตูนญี่ปุ่นแล้วอยากไปญี่ปุ่น ไปกินขนมแป้งทอด แม่บอกเออไปญี่ปุ่นมีระเบียบดี คนขยันขันแข็ง เราเรียนศิลปะแล้วตกก็ขอไปเรียนภาษาจะได้มีเวลาทำงานด้วย

จะแนะนำคนที่เริ่มวาดการ์ตูนว่าอะไรบ้าง
ถ้าจะทำเป็นอาชีพก็ให้ดูวัฒนธรรมที่เราอยู่ ไม่ใช่ดูแต่การ์ตูน การ์ตูนที่ดีควรเป็นแบบนี้ ยุคแรกที่การ์ตูนญี่ปุ่นประสบความสำเร็จไม่ได้เกิดจากการเลียนแบบการ์ตูนรุ่นพี่ แต่เกิดจากว่าเค้ารู้สึกอะไรแล้ววาด บางคนอ่านการ์ตูนมาก จนอยากเขียนการ์ตูน แต่ไม่รู้จะเขียนอะไร เพราะไม่มีเรื่องจะพูด ก็เลยไปหยิบเรื่องคนอื่นมาปรับเล่าต่อ แบบนั้นก็โอเค ตามสบาย แต่ถ้าให้เราแนะก็เริ่มจากตัวเองว่าเราคือใคร อยู่ที่ไหน คนรอบตัวเป็นแบบไหน มีตลาดแบบไหน

ในฐานะคนอ่าน การ์ตูนการ์ตูนให้อะไรกับเราบ้าง
เรานิสัยเปลี่ยนเพราะการ์ตูน แต่ก่อนใจร้อน อ่านการ์ตูนญี่ปุ่นแล้วมันไม่ค่อยโกรธกัน เดี๋ยวมันก็ดีกัน ไม่เหมือน “ทอมแอนด์เจอรี่” ทะเลาะกันได้ทุกตอน แต่การ์ตูนญี่ปุ่นจะมีการพัฒนาจิตใจ สู้กันสักพักจะจับมือกันก่อนตาย หรือบางทีสู้กันแล้วไปเจอศัตรูตัวใหม่ เลยร่วมมือกันไปสู้ศัตรูตัวใหม่

มีตัวการ์ตูนที่ชอบไหมคะ
ชอบ “คิวทาโร่” น่ารักดี ชอบ “ลามู” เด็กผู้หญิงบินได้ ทำให้อยากวาดผู้หญิงบ้าง หน้าการ์ตูนรุ่นใหม่ๆ เราก็เหมือนนะ ไม่ได้ลอกแต่มันเหมือนเอง 

คำถามสุดท้าย จริงๆ แล้วพี่วาด “hesheit” ให้สวยได้ใช่ไหม 
เราเคยพยายามแล้วนะ แต่บางทีที่เราทำให้มันเพอร์เฟ็กต์เนี่ย เราจับได้ว่ามันบิดเบือนเนื้อความหมดเลย บางทีเนื้อหาอยู่ในวิธีวาด เช่น ความไม่สนใจ ความไม่พูด นี่แหละคือเนื้อหา ที่เราทำคือที่ดีที่สุดแล้ว

ที่มา : http://www.trueplookpanya.com


ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *